พระสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงประกาศว่าให้ วันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2008 ถึงวันที่ 29 มิถุนายน ค.ศ. 2009
เป็น “ปีนักบุญเปาโล” เพราะเชื่อว่า ครบรอบวันเกิด 2000 ปีของท่าน

ดังนั้นตลอดปีนี้ เราควรทำความรู้จักกับนักบุญเปาโลให้มากยิ่งขึ้นเป็นพิเศษ
โดยเริ่มต้นพิจารณาเหตุการณ์ที่ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของท่านไป เมื่อพระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่ท่าน
การกลับใจของนักบุญเปาโล เป็นเหตุการณ์สำคัญมากในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักรแรกเริ่ม
ขณะที่นักบุญเปาโลเดินทางไปยังเมืองดามัสกัสประมาณ ปี ค.ศ. 34 พระคริสตเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพทรงสำแดงพระองค์แก่ท่าน
และเป็นที่น่าสังเกตอย่างยิ่งว่า การกระทำของนักบุญเปาโลที่ยอมกลับใจ
เป็นผลของการกระทำของพระคริสตเจ้าผู้ทรงเรียก “อัครสาวกของคนต่างชาติ”

กระแสเรียกของนักบุญเปาโลเป็นเหตุการณ์น่าอัศจรรย์ยิ่ง จิตกรหลายคนได้พยายามวาดภาพเหตุการณ์นี้
เพื่อแสดงว่าขณะที่เปาโลกำลังขี่ม้า แสงสว่างรุ่งโรจน์ของพระคริสตเจ้าได้ล้อมรอบตัวท่าน ทำให้ท่านล้มลงบนพื้น
นักบุญลูกาผู้เขียนหนังสือกิจการอัครสาวก ได้เน้นความสำคัญของเหตุการณ์นี้เป็นพิเศษสำหรับ
ชีวิตของพระศาสนจักรแรกเริ่ม โดยเล่าเรื่องนี้ซ้ำถึง 3 ครั้งด้วยกัน

ครั้งที่ 1 (กจ 9 : 1 – 19)


นักบุญลูกกาเล่าเหตุการณ์ตามลำดับกาลเวลาคือ เมื่อนักบุญเปาโลยังมีชื่อเก่าว่า “เซาโล”
มีส่วนรู้เห็นในการตายเป็นมรณสักขีของ “สเทเฟน”
เพราะผู้ที่เอาหินขว้างสเทเฟนได้นำเสื้อคลุมของตนมาวางไว้ที่แทบเท้าของเซาโล (กจ 7 : 58)
นักบุญลูกาได้ให้รายละเอียดว่า “เซาโลเป็นอีกคนหนึ่งที่เห็นชอบกับการที่สเทเฟนถูกฆ่า” (กจ 8 : 1)
ต่อมาไม่นานขณะที่เซาโลกำลังเดินทางไปยงเมืองดามัสกัส พระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่ท่านอย่างรุ่งโรจน์ 
ในครั้งแรกนี้ นักบุญลูกาเล่าเรื่องการกลับใจของนักบุญเปาโลโดยเน้นถึงพระอานุภาพของพระคริสตเจ้า ผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ
และภารกิจที่พระองค์ทรงมอบให้คือ ทรงเลือกเปาโลให้เป็นอัครสาวกของคนต่างชาติ
เมื่อพระเจ้าทรงตรัสเรียกผู้ใดการเรียกนั้นย่อมมี 2 ลักษณะรวมกันคือ

  1. พระองค์ทรงนำบุคคลนั้นให้มีความสัมพันธ์พิเศษกับพระองค์
  2. ทรงมอบภารกิจให้ผู้นั้นมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลอื่น ๆ ด้วย และเรามักมองข้ามลักษณะประการแรกไป ซึ่งโดยแท้จริงแล้วเป็นลักษณะที่สำคัญมากกว่า

บนหนทางไปยังเมืองดามัสกัส พระคริสตเจ้า “ทรงช่วงชิง” นักบุญเปาโลเอาไว้ (ฟป 3 : 12)
และทรงเลือกสรรท่านให้เป็น “เครื่องมือ” เพื่อนำพระนามของพระองค์ “ไปประกาศแก่คนต่างศาสนา
บรรดากษัตริย์ และลูกหลานของชาติอิสราเอล” (กจ 9 : 15)

ครั้งที่ 2 (กจ 22 : 6 – 16)

นักบุญลูกาบันทึกได้เรื่องราวเดียวกันนี้ โดยเปลี่ยนรายละเอียดบางประการ ในครั้งที่สองนี้ นักบุญเปาโลเป็นผู้เล่าเรื่องการกลับใจของตนเอง
ขณะที่ถูกจับกุมเพราะกำลังปราศรัยกับชาวยิวที่กรุงเยรูซาเล็ม ท่านได้พูดกับชนร่วมชาติเพื่ออธิบายว่า พระเจ้าทรงเรียกตนอย่างแท้จริง
นักบุญเปาโลกล่าวเน้นถ้อยคำ ที่อานาเนียได้พูดกับท่านว่า “พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของเรา ทรงเลือกสรรท่านให้รู้พระประสงค์ของพระองค์”
(กจ 22 : 14) ซึ่งพระประสงค์ คือ นักบุญเปาโลต้องเป็นพยานของพระคริสตเจ้าแก่มนุษย์ทุกคน และนักบุญเปาโลได้เพิ่มรายละเอียดที่ว่า
“องค์พระผู้เป็นเจ้า ทรงตรัสกับข้าพเจ้าว่า จงไปเถิด เราจะส่งเจ้าออกไปยังชนต่างศาสนาที่อยู่ห่างไกล” (กจ 22 : 21)

ครั้งที่ 3 (กจ 26 : 12 – 18)
นักบุญลูกาบันทึกคำปราศรัยของนักบุญเปาโล เล่าการกลับใจอีกครั้งหนึ่งของตน ขณะถูกจองจำที่เมืองซีซารียานานถึง 2 ปี
โดย “เฟสตัส” ผู้ว่าราชการโรมันของแคว้นยูเดียและสะมาเรีย สั่งให้นำนักบุญเปาโลเข้ามาให้ห้องพิจารณาคดี
เฉพาะพระพักตร์กษัตริย์อากริปปา และพระนางเบอร์นิส

นักบุญเปาโลเล่าว่า ท่านเคยมีความกระตือรือร้นในลัทธิของชาวฟาริสี และเบียดเบียนบรรดาศิษย์ของพระเยซูเจ้าชาวนาซาเร็ธ
แต่บนเส้นทางไปยังเมืองดามัสกัส มีเหตุการณ์ที่อัศจรรย์ใจเกิดขึ้น ทำให้ชีวิตของท่านเปลี่ยนไป
และในครั้งที่สามนี้ นักบุญเปาโลเน้นลักษณะ 2 ประการของการได้รับเรียกเป็นพิเศษ นั่นคือ ลักษณะของภารกิจที่ได้รับมอบหมาย
และการได้รับเลือกสรรอย่างเป็นการส่วนตัวจากพระเจ้า
ดังที่เราสามารถเห็นอย่างชัดเจนจากคำตอบของพระเยซูเจ้าที่ตรัสกับนักบุญเปาโลที่กำลังตกใจถามพระองค์ว่า

“ข้าแต่พระเจ้า พระองค์คือใคร?”


องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงตรัสว่า “เราคือเยซูผู้ที่เจ้ากำลังเบียดเบียน บัดนี้จงลุกขึ้นยืนเถิด
เพราะเราแสดงตนแก่เจ้าเพื่อจะแต่งตั้งเจ้าให้มาเป็นผู้รับใช้องเรา เจ้าจงเป็นพยานยืนยันในสิ่งที่เจ้าได้เห็น และสิ่งที่เราจะเปิดเผยอีก
เราจะช่วยเหลือให้เจ้าปลอดภัยจากเพื่อนร่วมชาติของเจ้า และจากคนต่างศาสนาที่เราจะส่งเจ้าไปพบ เจ้าจะเปิดตาของเขา
จะทำให้เขาผ่านพ้นความมืดมาสู่ความสว่าง และผ่านพ้นอำนาจของซาตานมาสู่พระเจ้า เพื่อจะได้รับการอภัยบาป
และรับมรดกร่วมกับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย เพราะพวกเขาได้มีความเชื่อในเรา” (กจ 26 : 15 – 18)

ด้วยเหตุนี้ เราจึงรู้ถึงความหมายของกระแสเรียกของท่านนักบุญเปาโลว่า พระคริสตเจ้าทรงสำแดงพระองค์แก่ท่าน
เพื่อทรงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ ซึ่งแต่ก่อนหน้านี้ นักบุญเปาโลได้เคยเป็นปรปักษ์กับพระคริสตเจ้า
แต่บัดนี้ท่านมีความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวและรับใช้พระองค์
ทรงส่งท่านไปยังดินแดนต่างชาติต่างศาสนา เพื่อช่วยคนเหล่านั้นให้พ้นจากความมืด และนำไปสู่พระอาณาจักรที่สดใสของพระองค์
นำการอภัยบาปและพระสัญญาของพระเจ้าที่ว่า “ผู้มีความเชื่อจะได้รับความศักดิ์สิทธิ์และมรดกในสวรรค์”

นักบุญเปาโลกล่าวเสริมด้วยว่า ท่านได้นอบน้อมและเชื่อฟังพระบัญชาของพระคริสตเจ้าที่ได้เห็นในภาพนิมิต
และท่านได้เริ่มประกาศข่าวดีเรื่องพระคริสตเจ้าแก่ชาวดามัสกัสก่อน แล้วจึงประกาศข่าวดีแก่ชาวเยรูซาเล็มในแคว้นยูเดีย
และในที่สุดได้ประกาศแก่คนต่างศาสนา  กระแสเรียกของนักบุญเปาโล ได้แสดงให้เราเห็นถึงพลังที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา
แม้ในขณะที่ท่านตกเป็นเชลย หรือขณะอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี ซึ่งคำปราศัยของท่านล้วนมีจุดประสงค์ในการประกาศข่าวดี
และลงท้ายโดยแสดงความปรารถนาที่กษัตริย์อากริปปาทรงกลับพระทัย มีความเชื่อในพระคริสตเจ้า
และทุก ๆ คนที่นั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยจะกลับใจมาเป็นคริสตเจ้าเช่นกัน

นักบุญลูกาได้เล่าการกลับใจของนักบุญเปาโล โดยเน้นให้เห็นถึงลักษณะที่เป็นการกระทำของพระเจ้า
และมอบภารกิจให้เป็นอัครสาวกแก่ท่านเปาโล....

บทความจาก : นิตยสารดอนบอสโก ปีที่ 50